จับตา!! เงินบาทอ่อนค่าที่สุดในรอบ 4 ปี จะส่งผลกระทบอย่างไรกับใครบ้าง?
ค่าเงินบาทมีการเปลี่ยนแปลงได้จากหลายปัจจัย หากติดตามข่าวเศรษฐกิจอยู่ทุกวันจะรู้เลยว่าเงินบาทอ่อนค่า หรือค่าเงินบาทแข็ง ซึ่งในช่วงเวลานี้เงินบาททยอยอ่อนค่ากว่าในรอบ 3-4 ปีที่ผ่าน สืบเนื่องจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งสถานการณ์โควิด ทิศทางการลงทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนสถานการณ์บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีน ซึ่งทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐ ยุโรป จีน นั้นเริ่มฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าประเทศไทย และคนในประเทศเขาออกมาทำมาหากิน ทำกิจกรรมต่าง ๆ กันอย่างเป็นปกติแล้ว…
ซึ่งข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเอาไว้ว่า เงินบาททยอยอ่อนค่าสอดคล้องกับแรงขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และแรงกดดันต่อสินทรัพย์ความเสี่ยงในภาพรวม ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีน และนอกจากนั้น เงินดอลลาร์ฯ ก็ได้รับแรงหนุนจากคำแถลงของประธานเฟดที่เห็นว่า เฟดอาจเริ่มชะลอวงเงินมาตรการ QE ในเร็วๆ นี้ (ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในเดือนพ.ย.) ขณะที่ dot plot ชุดใหม่ของเฟดบ่งชี้ว่า ดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อาจมีการปรับขึ้นในปีหน้า
แต่อย่างไรก็ดีเงินบาทอาจฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ตามสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ
เงินบาทอ่อนค่า คืออะไร?
ค่าเงินอ่อนตัว หมายถึง อัตราการแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินบาทกับค่าเงินดอลลาร์ ที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เงินบาทมีค่าลดลงนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมเคยแลก 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับเงินไทย 30 บาท
แต่เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลดลงไป 3 บาท จากที่เคยใช้เงิน 30 บาท แลกกับ 1 ดอลลาร์ ก็จะต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นเป็น 33 บาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงิน 1 ดอลลาร์เท่าเดิม
(ซึ่ง ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2564 ค่าเงิน 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 33.82 บาท)
แล้วสาเหตุที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่า เกิดจากอะไร? อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าสาเหตุที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง เกิดได้จากหลายปัจจัย
- ปริมาณเงินลงทุนจากต่างชาติลดลง มีการไหลออกของเงินลงทุนมากขึ้น
- การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสูงขึ้น
- สถาณการณ์โควิดที่ทำให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยลดลง เกิดความต้องการซื้อสินค้าไทยลดน้อยลง
- เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น เนื่องจากสัญญาณเศรษฐกิจของเขาเริ่มดีขึ้น
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ย แต่ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกับปรับลดดอกเบี้ยลง
ส่งผลกระทบอย่างไรต่อการนำเข้า-ส่งออก
เมื่อค่าเงินบาทอ่อนตัว แน่นอนเลยว่าจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจหลาย ๆ ด้าน แต่ก็มีทั้งผู้ที่ได้รับผลประโยชน์และผู้ที่เสียประโยชน์
อันดับแรกก็น่าจะเป็นกลุ่มนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบนี้โดยตรง เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนตัว ทำให้ราคาสินค้าในต่างประเทศจะแพงขึ้นทันที โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในการผลิตอุตสาหกรรม พวกเครื่องจักร เครื่องมือก่อสร้างขนาดใหญ่ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงสินค้าแบรนด์เนมต่าง ๆ เช่น กระเป๋า รองเท้า เป็นต้น
และส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างเราโดยตรงเช่นกัน เพราะต้องซื้อสินค้าที่มีราคาแพงขึ้น เนื่องจากการนำเข้าน้ำมันแพงขึ้น ทำให้ต้นทุนในการผลิตหรือค่าขนส่งแพงขึ้นตามไปด้วย
รวมถึงส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการไปเรียนต่อในต่างประเทศ เพราะจะต้องมีเรื่องค่าใช้จ่ายการเดินทาง ค่าที่พัก การอยู่กิน หรือค่าใช้จ่ายจากต้นทุนด้านการศึกษาที่จะสูงขึ้นจากเดิม ซึ่งช่วงเวลาที่ค่าเงินบาทอ่อนตัว ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านี้ค่ะ
ต้องบอกว่าสำหรับธุรกิจนำเข้าของพ่อค้าแม่ค้าอย่างเราได้รับผลกระทบร่วมด้วยอยู่แล้วไม่มากก็น้อยจ้า เนื่องจากเรื่องเงินบาทอ่อนค่าหรือค่าเงินบาทแข็ง เป็นเรื่องของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ต่างมีผลกระทบต่อกัน ยิ่งค่าเงินบาทอ่อนตัวเศรษฐกิจนำเข้ายิ่งต้องปรับตัวกันเลยทีเดียว เพราะธุรกิจนำเข้าจะทำกำไรได้น้อยลงกว่าเดิม จากปัจจัยในเรื่องราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น นำเข้าน้ำมันที่แพงขึ้น ส่งผลให้ค่าขนส่งก็แพงขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งสำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่นำเข้าสินค้าจีนอาจจะยังไม่เห็นภาพว่าจะมีผลกระทบอย่างไร ให้ดูที่กราฟสถิติค่าเงินหยวน (ดังภาพด้านล่างนี้)
จะเห็นได้ว่าค่าเงินหยวนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต ซึ่งคุณ Ray Dalio ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารกองทุน Bridgewater Associates หนึ่งในกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวไว้ว่า ค่าเงินหยวนจะมีความสำคัญมากขึ้น เป็นสกุลเงินที่แข็งค่า มีเสถียรภาพ และจะใช้กันอย่างแพร่หลายในอนาคตอีกด้วย
ดังนั้น พ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายที่ทำธุรกิจนำเข้าอาจจะต้องปรับเปลี่ยนวางแผนธุรกิจใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจค่าเงินบาทกำลังอ่อนตัว ในขณะที่ธุรกิจส่งออกกับเรียกช่วงเวลานี้ว่าช่วงเวลาทองที่สามารถกอบโกยกำไรได้ แต่นำเข้าอย่างเรากับเกิดปัญหาต้นทุนแพงขึ้น
ฉะนั้น จะรับมืออย่างไรกับสถานการณ์ ค่าเงินบาทอ่อน มาดูกัน…
1. ต้องคอยติดตามข่าวสารความผันผวนของค่าเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาวางแผนธุรกิจด้านการวิเคราะห์คำนวณต้นทุนและกำไรของสินค้า ที่อาจมีราคาแตกต่างไปจากเดิม
2. แพลนรอบการนำเข้าให้ดี เนื่องจากปัจจัยหลักของการนำเข้าคือการขนส่ง เมื่อค่าเงินบาทอ่อนตัว มีผลให้ค่าน้ำมันแพงขึ้น และค่าขนส่งที่แพงขึ้นตาม จึงต้องวางแผนรอบการนำเข้าเหมาะสม จากเดิมเคยนำเข้าเดือนละ 4-5 รอบ อาจจะปรับลดเหลือเดือนละ 2-3 รอบ เพื่อเลี่ยงค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งที่เพิ่มขึ้น
3. จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนสินค้าให้เยอะขึ้นในแต่ละรอบ เพื่อเฉลี่ยต้นทุนค่าขนส่งนำเข้าให้ได้มากที่สุด เช่น ใน1รอบการนำเข้าจากเดิมเคยสั่งสินค้า 100 ชิ้น อาจจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 150-200 ชิ้น เพื่อให้ได้ต้นทุนสินค้าถูกลง
4. เมื่อค่าเงินบาทอ่อนตัวลง หมายความว่าเราจะต้องซื้อสินค้าเดิมที่มีราคาแพงขึ้น ดังนั้น อาจจะมีตัวเลือกสินค้าอื่น ๆ ภายในประเทศเข้ามาแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เช่น หาแหล่งสินค้าขายส่งในไทยแทนการนำเข้าจากจีนในช่วงสถาณการณ์ค่าเงินอ่อนตัว
ซึ่งวิธีข้างต้นที่กล่าวมาจะมามารถช่วยได้ในช่วงเวลาที่เงินบาทอ่อนค่า แน่นอนว่าผู้นำเข้าทุกรายจะต้องใช้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการซื้อสินค้า หากมีวิธีรับมือกับมันได้ เราก็จะเป็นผู้อยู่รอด
แต่อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่อ่อนค่าหรือแข็งค่าเร็วจนเกินไป จะต้องเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะต้องเข้ามาช่วยดูแลควบคุมไม่ให้ค่าเงินบาทนั้นผันผวนมากจนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งหมดค่ะ